images

เรือด BED BUG


   
     เรือด (Bed bug) เป็นแมลงตระกูลมวน และ เป็นปรสิตภายนอกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีก

     อันดับ Order Hemiptera

     วงศ์  Family Cimicidae

     ตัวเรือดชนิดที่กัดและดูดเลือดคนที่สำคัญ คือ Cimex hemipterus  ซึ่งพบในเขตร้อน และ Cimex lectularius พบในเขตอบอุ่น ในประเทศไทยไม่มีรายงานการระบาดของเรือดมาหลายสิบปี จนทำให้คนวัยหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันไม่รู้จักเรือด  อย่างไรก็ตามเริ่มมีข่าวการพบตัวเรือดบ่อยมากขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา และข่าวการระบาดของตัวเรือดออกมากัดผู้โดยสารในรถไฟหลายขบวนที่วิ่งในเส้นทางระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องหยุดการเดินรถไฟชั่วคราวเพื่อดำเนินการกำจัดตัวเรือดในตู้โดยสาร

     นอกจากนี้ตามโรงแรมต่างๆ ก็เริ่มพบตัวเรือดมากขึ้น เพราะติดมากับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของตัวเรือดในโรงแรมและที่พักในเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย เช่น กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและที่พักประสบปัญหาตัวเรือดระบาดในที่พักเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่ซึ่งสะอาดแต่ก็สามารถเป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของตัวเรือดได้ หากมีตัวเรือดติดเข้ามาแม้เพียงไม่กี่ตัวและไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไป

ความสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุข

     เรือดจัดเป็นแมลงที่สำคัญทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง เนื่องจากเรือดสร้างความรำคาญต่อมนุษย์และสัตว์ด้วยการกัดดูดเลือด ทำให้ผู้ที่ถูกกัดดูดเลือดรู้สึกคันบริเวณที่เรือดกัดซึ่งเกิดจากการแพ้น้ำลายของเรือด และต่อมาอาจทำให้เกิดการบวม ผื่นแพ้ และผิวหนังอักเสบบริเวณดังกล่าวได้ในปี 2554 นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาได้ค้นพบว่าเรือดเป็นพาหะสำคัญในการแพร่เชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ คือ Methicillin-resistant  Staphylococcus aureus (MRSA) ซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะ Methicillin และVancomycin-resistant Enterrococcus faecium (VRE) ซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะ Vancomycin ในผู้ป่วยบางรายซึ่งเข้ารับการรักษาและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา นอกจากนี้ได้มีการทดลองในห้องปฏิบัติการและพบว่าเชื้อโปรโตซัวที่สำคัญบางชนิด เช่น Leishmania donovani และ L. tropica และไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี (Hepatitis B) สามารถเจริญได้ในตัวเรือด อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดว่าเรือดสามารถเป็นพาหะถ่ายทอดโปรโตซัวและไวรัสดังกล่าวมาสู่คนในสภาพธรรมชาติ สำหรับในสัตว์ปีกนั้นเรือดสามารถทำให้เกิดโรคโลหิตจางในไก่ ไก่งวง และนกพิราบได้


ชีววิทยาและนิเวศวิทยา

    เรือดมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์  (Incomplete metamorphosis) ประกอบด้วย ระยะไข่ (Egg) ตัวกลางวัย  (Nymph) และตัวเต็มวัย (Adult) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายตัวกลางวัยแต่ขนาดใหญ่กว่า เรือดตัวเมียวางไข่วันละ 1-5 ฟอง แต่ก็อาจวางไข่ได้มากถึง  วันละ 12 ฟอง ตลอดชีวิตเรือดตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้มากถึง  500 ฟอง บริเวณที่เรือดชอบวางไข่ ได้แก่ หัวเตียง ใต้ไม้หัวเตียง ขอบเตียงกรอบไม้ใต้เตียง ฐานรองที่นอน (Box spring) ไม้บัวหัวเตียงและรอบๆ ห้อง บนที่นอน ขอบที่นอน ใต้ที่นอน โต๊ะข้างเตียงสำหรับวางโทรศัพท์และโคมไฟ โคมไฟข้างเตียง พรมบริเวณริมผนังกำแพง โต๊ะเครื่องแป้งกล่องใส่กระดาษทิชชูที่ทำด้วยไม้ ที่วางกระเป๋า ตู้เสื้อผ้า เก้าอี้หวาย ผ้า ม่าน ผนังห้อง ขอบเสา ขอบหน้าต่าง กรอบรูป รูหรือรอยแตกบนผนัง  ปลั๊กไฟ ฯลฯ

     ไข่ของเรือดมีสีขาว ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร มีฝาปิดและมีสารซีเมนต์เหนียวเคลือบอยู่ทำให้ยึดติดกับบริเวณที่วางไข่ ตัวกลางวัยของเรือดมี 5 ระยะ (ระยะที่ 1-ระยะที่ 5) โดยแต่ละระยะต้องกินเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง จึงจะเจริญเติบโตไปสู่ระยะต่อไปได้ อย่างไรก็ตามตัวกลางวัยของเรือดสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 3-4 เดือน โดยที่ไม่ต้องกินเลือด จากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 6-8 สัปดาห์ ทั้งนี้อัตราการเจริญเติบโตขึ้นอยู่กับอาหารและอุณหภูมิภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

 

 

     เรือดตัวเต็มวัยมีลักษณะลำตัวแบนรี ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตรสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ส่วนหัวสั้น มีหนวด 4 ปล้อง มีปากแบบเจาะดูด (Piercing sucking) ลักษณะเป็นปล้อง 3 ปล้อง สามารถพับเก็บไว้ในร่องด้านล่างใต้ลำตัวได้ ส่วนอกด้านหน้ามีลักษณะเว้า ด้านข้างขยายออกกว้างกว่าปล้องอื่น ปีกไม่เจริญ มีลักษณะเป็นแผ่นแข็งสั้น (Wing pad) มีขา 6 ขา  ส่วนท้องเป็นรูปไข่เห็นปล้องชัดเจน  ตัวเต็มวัยมีอายุนาน 6-12 เดือน สามารถหลบซ่อนและไม่ต้องกินเลือดได้นานหลายเดือนจนถึง 1 ปี